Thailand Map Datum (พื้นหลักฐานอ้างอิง)
ปี พ.ศ.2518 องค์การแผนที่ กระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา (Defense Mapping Agency Hydrographic/Topographic Center : DMAHTC) ได้ทำการปรับแก้และย้ายศูนย์กำเนิดของพื้นหลักฐานจากเขากะเลียนเปอร์ ประเทศอินเดีย มาเป็นที่เขาสะแกกรัง จ.อุทัยธานี การปรับแก้ครั้งนี้ใช้เทคนิคการรังวัดจากดาวเทียมดอปเปลอร์จำนวน 9 สถานี ซึ่งตำแหน่งสัมพัทธ์ที่ได้จากการรังวัดดาวเทียมดอปเปลอร์ มีความถูกต้องสูงกว่าที่ได้จากงานโครงข่ายสามเหลี่ยม เป็นจุดควบคุมโครงข่ายสามเหลี่ยมซึ่งประกอบด้วย จำนวนหมุดสามเหลี่ยมทั้งสิ้น 426 สถานี เรียกผลลัพธ์จากการปรับแก้โครงข่ายสามเหลี่ยมในครั้งนี้ว่า พื้นหลักฐาน Indian1975 มีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้ จุดศูนย์กำเนิดพื้นหลักฐาน เขาสะแกกรัง(หมุดสามเหลี่ยมหมายเลข91)
ละติจูด 15 o 22’ 56”.0487 เหนือ
ลองจิจูด 100 o 00’ 59”.1906 ตะวันออก
ความสูงเหนือพื้นยีออย -22.46 เมตร
รูปทรงรี เอเวอร์เรสท์ 1830
===============================================================
พื้นหลักฐาน Indian 1954
ปี พ.ศ.2495 รัฐบาลไทยได้ร่วมกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ในโครงการจัดทำแผนที่ภูมิประเทศ มาตราส่วน 1:50,000 จากรูปถ่ายทางอากาศ เพื่อเพิ่มความหนาแน่นของโครงข่ายให้เพียงพอ และทำให้ค่าพิกัดยีออเดซีในประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือ ดังนั้นประเทศไทยจึงทำการรังวัดขยายโครงข่ายสามเหลี่ยม โดยมีหน่วยงานบริการแผนที่กองทัพบกสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ดำเนินการคำนวณปรับแก้ใหม่ทั้งหมด โดยใช้หมุดสามเหลี่ยมบริเวณชายแดนไทย-พม่า จำนวน 10 หมุด เป็นหมุดควบคุมโครงข่าย และถือว่าหมุดควบคุมเหล่านี้ไม่มีความคลาดเคลื่อน ค่าพิกัดของหมุดควบคุมโครงข่ายดังกล่าวได้จากผลการปรับแก้ในปี พ.ศ.2459 บนพื้นหลักฐาน Indian1916 การคำนวณปรับแก้แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2497 จึงเรียกผลลัพธ์ที่ได้จากการปรับแก้ครั้งนี้ว่า พื้นหลักฐาน Indian1954 มีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้
จุดศูนย์กำเนิดพื้นหลักฐาน เขากะเลียนเปอร์ ประเทศอินเดีย
ละติจูด 24 o 07’ 11”.26 เหนือ
ลองจิจูด 77 o 39’ 11”.57 ตะวันออก
อะซิมุทแรกออกจากใต้ เขากะเลียนเปอร์ – สุรันตัล 190 o 27’ 05”.10
รูปทรงรี เอเวอร์เรสท์ 1830
===============================================================
พื้นหลักฐานราชบุรี
โครงข่ายทางยีออเดซีของประเทศไทยได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่ในอดีต นับตั้งแต่ประเทศอินเดียได้กำหนดจุดศูนย์กำเนิดของรูปทรงรีเอเวอร์เรสท์ 1830 ที่ภูเขากะเลียนเปอร์ รังวัดขยายโครงข่ายสามเหลี่ยมชั้นที่หนึ่งออกไปทั่วภูมิภาค ผ่านประเทศพม่าจนถึงเขตแดนไทยที่ เขาหลวง จ.ราชบุรี และปรับแก้แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2442 ต่อมาในปี พ.ศ.2450 กรมแผนที่ไทยในสมัยนั้น ได้รังวัดโครงข่ายงานสามเหลี่ยมชั้นที่หนึ่ง เชื่อมโยงกับหมุดหลักฐานที่เขาหลวง และทำการรังวัดเส้นฐานราชบุรี พร้อมกับการรังวัดอะซิมุทดาราศาสตร์ จากเขาแง้มไปเขางู เพื่อใช้เป็นสถานีแรกออกในการรังวัดขยายโครงข่ายออกไปทั่วประเทศ ประเทศไทยมีโครงข่ายควบคุมทางราบเป็นโครงข่ายแรกอ้างอิงกับพื้นหลักฐานราชบุรี โดยมีค่าพิกัดแรกออกที่ เขาหลวง จ.ราชบุรี ดังนี้
ละติจูด 13o 43’ 30”.34 เหนือ
ลองจิจูด 99 o 32’ 22”.94 ตะวันออก
อะซิมุทจากใต้ เขาแง้ม – เขางู 179 o 44’ 34”.308
รูปทรงรี เอเวอร์เรสท์ 1830
(a = 6377276.345 เมตร , f = 1/300.8017)
===============================================================
พื้นหลักฐาน Indian 1916
ปี พ.ศ.2459 หน่วยบริการแผนที่ กองทัพบก สหรัฐอเมริกา (US Army Map Service) ได้มอบหมายให้หน่วยงาน US. Coast and Geodetic Survey ทำการคำนวณปรับแก้โครงข่ายสามเหลี่ยมในประเทศอินเดียและพม่าใหม่ โดยใช้ข้อมูลเดิมที่มีอยู่และข้อมูลใหม่จากการวัดดาราศาสตร์และเส้นฐานเพิ่มเติม ทำให้ค่าพิกัดของจุดศูนย์กำเนิดที่เขากะเลียนเปอร์ มีการเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นค่าพิกัดที่เขาหลวงจึงเปลี่ยนแปลงตาม เรียกผลลัพธ์ของการคำนวณปรับแก้ครั้งนี้ว่า พื้นหลักฐาน Indian 1916 ค่าพิกัดเขาหลวงที่เปลี่ยนแปลงเป็นดังนี้คือ
ละติจูด 13o 43’ 28”.690 เหนือ
ลองจิจูด 99o 32’ 21”.520 ตะวันออก
===============================================================
ที่มา : กองยีออเดซี่ และ ยีออฟิสิกส์ กรมแผนที่ทหาร
http://www.rtsd.mi.th/information/download/geodasy.htm
Seja o primeiro a comentar
แสดงความคิดเห็น